Last updated: 19 ก.พ. 2568 | 17 จำนวนผู้เข้าชม |
อเด็คโก้เผยอัตราเงินเดือนปี 67-68 เงินเดือนตำแหน่งจบใหม่ด้านไอทียังคงสูงกว่าตำแหน่งในสายงานอื่น ขณะที่ตำแหน่งระดับสูงขององค์กรเงินเดือนพุ่ง เน้นความสำคัญของตำแหน่งที่ต้องบริหารงานและตัดสินใจท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ ย้ำองค์กรสร้าง employer brand ที่ดี ด้วยนโยบายส่งเสริมการทำงานที่ยืดหยุ่น การเติบโตในงาน และการให้การฝึกอบรมเป็นสำคัญในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำงาน
บริษัท อเด็คโก้ประเทศไทยเปิดตัวคู่มืออัตราเงินเดือนประจำปี 2568 (Adecco Thailand Salary Guide 2025) ซึ่งรวบรวมอัตราเงินเดือนของตำแหน่งงานหลากหลายในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมกว่า 900 ตำแหน่งงาน พร้อมเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดแรงงานในประเทศไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเผยผลสำรวจ Career & Work Trends ที่มีคนทำงานร่วมตอบแบบสอบถามกว่า 1,300 คน เมื่อปลายปีที่ผ่าน โดยเน้นประเด็นเรื่องความท้าทายในการทำงานในปัจจุบันที่มี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อให้ผู้จ้างงาน องค์กร รวมถึง ผู้หางานใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการปรับกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จในยุคดิจิทัล
แรงงานไทยในปี 2024: ความท้าทายและโอกาสใหม่
จากข้อมูลของ Adecco พบว่า ตลาดแรงงานไทยในปี 2024 เผชิญความผันผวนจากเทคโนโลยีใหม่ เช่น Generative AI และการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นผลจากทั้งนโยบายภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และ ภาพรวมเศรฐกิจการเมืองของโลก อุตสาหกรรมเด่นอย่างเซมิคอนดักเตอร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์เผชิญการชะลอตัวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานไฟฟ้าและการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ในขณะที่ภาพรวมของเงินเดือนของพนักงานในองค์กรปีนี้ พบว่าไม่ต่างจากเดิมมากนัก อัตราเงินเดือนของคนทำงานในสาย Tech ยังคงมาแรง โดยพบอัตราเงินเดือนของระดับ Junior Level (ประสบการณ์ 0-3 ปี) สูงสุดอยู่ที่ตำแหน่ง Full Stack Developer ที่ได้เงินเดือนสูงสุดถึง 100,000 บาท ในขณะที่ปีนี้พบว่าตำแหน่งงานระดับผู้บริหารระดับสูงอย่าง CEO หรือ COO ได้รับเงินเดือนสูงสุดถึง 800,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ทีประมาณ 600,000 บาท แสดงถึงความสำคัญของตำแหน่งดังกล่าวที่มีผลเป็นอย่างมากต่อการขับเคลื่อนองค์กรให้ร่วงหรือรอด ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโยลีใหม่ๆ ทั้งนี้การได้เงินเดือนสูงไม่ว่าจะในระดับใด คนทำงานไม่เพียงต้องแสดงถึงทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานเท่านั้น แต่ยังต้องมี soft skills ในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ทัศนะคติที่ดี ความคิดสร้างสรรค์ การไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตนเอง รวมถึงความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ผลสำรวจและข้อมูลสำคัญจากคู่มือฐานเงินเดือน 2568 อเด็คโก้ได้สำรวจความคิดเห็นจากคนทำงานในไทยในหลากหลายตำแหน่งงาน จากอุตสาหกรรมใหญ่ต่างๆ เช่น ไอที การผลิต หรือค้าปลีก รวมกว่า 1,300 คน โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจต่อตลาดแรงงานไทย ดังนี้
1. ความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเลือกงาน คนทำงานถึง 93% เปิดรับโอกาสใหม่ในการทำงาน โดยเป็นผู้ที่ตั้งใจหางานใหม่อย่างจริงจังมากถึง 40% โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดนอกจากเรื่องของค่าตอบแทนแล้ว ก็คือเรื่อง work-life balance ที่คนทำงานให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี 2023 เป็น 67% ในปี 2024 มองในอีกมุมหนึ่ง เรื่องนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับองค์กรในการดึงดูดและรักษาทาเลนท์ให้อยู่กับองค์กรได้
2. AI เครื่องมือสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการทำงาน การใช้ AI ในการทำงานยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่องๆ ผลสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 83% ใช้ AI ในการทำงานทุกวัน โดยระดับผู้บริหารเป็นกลุ่มที่ใช้มากที่สุด และใช้เพื่อการวางแผนและตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ นอกจากนี้ AI ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการสรรหาพนักงานขององค์กรอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีองค์กรเพียงหนึ่งในสามที่ให้การฝึกอบรม AI อย่างสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะนี้ในวงกว้าง
3. การเปลี่ยนการทำงานให้เป็นดิจิทัล (digitization) และ การทำงานที่ยืดหยุ่น เป็นเทรนด์ที่ส่งผลต่อคนทำงานทุกกลุ่ม จากผลสำรวจ รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น และการปรับองค์การให้กลายเป็นดิจิทัลกลายเป็นสิ่งคนทำงานโหวตให้ว่าเป็นเทรนด์ที่มีผลต่อการทำงานมากถึงสุดถึง 74% โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในธุรกิจไอที งานบริการและให้คำปรึกษา และการก่อสร้างและวิศวกรรม ตามมาด้วยการใช้ Generative AI และ การใช้ระบบอัตโนมัติ
4. การยอมรับความแตกต่างหลากหลายในที่ทำงานเริ่มต้นได้ตั้งแต่การเปิดรับสมัครงาน
การใช้รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น และมีการสื่อสารที่ชัดเจนถึงเป้าหมายขององค์กรเกี่ยวกับการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ถือเป็นนโยบายที่เกิดผลที่สุดในแง่การส่งเสริมด้าน DEI ขององค์กร นอกจากนั้นเรื่องนโยบายการจ้างงานที่ไม่จำกัดเพศ อายุ หรือสภาพร่างการก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก แต่จะช่วยสร้างให้เกิดความหลากหลายที่แท้จริงในองค์กร
5. ทักษะสำคัญเพื่อสร้างการแข่งขันได้ในโลกการทำงาน ทักษะสำคัญของคนทำงานที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเองได้ ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะการใช้งานเครื่องจักรต่างๆ รวมถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะการใช้ โดย 49% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า การมีทักษะด้าน AI จะช่วยให้ตนเองได้งาน ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น
แนวโน้มปี 2025: ความยั่งยืนและการทำงานร่วมกัน
คุณมาเรีย อันโทเน็ท อันซิโร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อเด็คโก้ ประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางในปี 2025 ว่า "ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เราเห็นถึงสถานการณ์ที่ดีขึ้นของตลาดแรงงานไทย ตามเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในหลายอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายอีกมากสำหรับองค์กรที่จะต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น (1) การนำ AI มาใช้ และพัฒนาและอบรมทักษะ AI ให้กับพนักงาน, (2) การออกแบบรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น, และ (3) การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับความหลากหลายและความเท่าเทียม (DEI)
เรื่องเทคโนโลยี AI ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการทำงาน จะไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือเสริมอีกต่อไป แต่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ และดึงดูดทาเลนท์มาร่วมงานด้วย องค์กรจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมเครื่องมือเหล่านี้ รวมไปถึงช่วยพัฒนาทักษะของพนักงานให้สามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างชาญฉลาด ปลอดภัย และสร้างสรรค์ (Digital Literacy) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้งาน AI การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก หรือการใช้แพลตฟอร์มทางดิจิทัลต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญ ยังควรนำ AI มาปรับใช้กับการทำงานร่วมกับความคิดสร้างสรรค์หรือความสามารถทางอารมณ์ของมนุษย์ เพื่อให้เกิด productivity สูงสุดต่อธุรกิจและองค์กร
นอกจากนี้ การเข้ามาของคนเจเนอเรชั่นใหม่อย่าง GenZ ที่มีลักษณะการทำงานและความต้องการที่แตกต่างจากคนเจนอื่นๆ ทำให้องค์กรต้องทบทวนโนบายและสวัสดิการต่างๆ ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องนโยบาย Work-Life Balance ที่เห็นได้ชัดจากผลสำรวจของเราว่าเป็นสิ่งที่คนทำงานให้ความสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ความหมายของ work-life balance ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การทำงานน้อยลง หรือเลิกงานเป็นเวลาเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงการสร้างระบบการทำงานที่ตอบโจทย์ชีวิตในทุกๆ มุม ของคนทำงานให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานที่ยืดหยุ่น สามารถบริหารจัดการเวลาของตนเองได้ เน้นที่เป้าหมายหรือผลสำเร็จแทนการดูชั่วโมงทำงาน (Result-Oriented Work Environment (ROWE) ได้พัฒนาตนเอง รวมถึงทำแล้วเกิดคุณค่าต่อสังคม และสอดคล้องกับค่านิยมและไลฟ์สไตล์ของตนเอง ที่สำคัญคือต้องเป็นงานที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจของตัวเองด้วย นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังให้ความสนใจกับองค์กรที่ให้ความสำคัญการกับการเปิดรับความหลากหลาย และมีนโยบายที่ส่งเสริมเรื่องดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่องค์กรจะต้องสร้างนโยบายที่เอื้อให้เกิดรูปแบบการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรในลัษณะนี้เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”
“สำหรับผู้ที่หางาน ไม่ว่าจะจบจากสาขาใด หรือทำงานมานานเท่าไหร่ ก็จำเป็นต้องเข้าใจและใช้งาน AI และเครื่องมือ digital ได้ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดงานในปัจจุบัน รวมถึงเพิ่มโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพและตำแหน่งงาน เด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดงานควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองทำงานและเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับ เพื่อพัฒนาทั้งทักษะที่เกี่ยวกับงาน และ soft skills อย่าง การทำงานร่วมกันเป็นทีม การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับการพิจารณา รวมทั้งได้รู้ถึงความชอบ และความถนัดของตนเอง และมีโอกาสได้งานที่ตรงใจมากยิ่งขึ้น”
อเด็คโก้เล็งเห็นความสำคัญ โดยเน้นติดอาวุธให้องค์กรในการพัฒนาคนและการสร้างนวัตกรรมซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ในทีม พร้อมช่วยผู้ที่หางานให้เข้าถึงโอกาสงานที่หลากหลาย เราพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนองค์กรและคนทำงาน ในการสร้างตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง พร้อมรับความท้าทายและสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
29 ธ.ค. 2567